สำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ ได้เปิดตัวหนังสือ “ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล คณะราชทูตสยาม ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑” หนังสือ ที่รวบรวมเรื่องราวและภาพถ่ายเครื่องมงคลราชบรรณาการตลอดจนคณะราชทูตสยามซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ได้ส่งไปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส ที่ไม่เคยรวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเล่มใดมาก่อน ซึ่งสำนักพิมพ์ฯ ได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากพระราชวังฟงแตนโบล เพื่อแปลหนังสือ LE SIAM A FONTAINEBLEAU : L'AMBASSADE DU 27 JUIN 1861 เป็นภาษาไทย
เครื่องมงคลราชบรรณาการที่สยามส่งไปยังประเทศฝรั่งเศสมีความงดงามยิ่งใหญ่และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง พระจักรพรรดินีเออ เฌนีแห่งฝรั่งเศสโปรดฯให้จัดเก็บเครื่องมงคลราชบรรณาการไว้ที่พระราชวัง ฟงแตนโบลซึ่งเป็นที่เสด็จออกรับคณะราชทูตเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็ยังไม่มีผู้ใดได้เห็นสิ่งของเครื่องมงคลราช บรรณาการที่ทางสยามจัดส่งไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ พิพิธภัณฑ์พระราชวังฟงแตนโบล ได้จัดแสดงเครื่องมงคลราชบรรณาการจากสยาม ภาพวาดคณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทั้งยังได้จัดพิมพ์หนังสือคู่มือประกอบนิทรรศการ อันประกอบไปด้วยบทความต่างๆ ที่น่าสนใจและที่สำคัญคือภาพเครื่องมงคลราชบรรณาการอันงดงามประณีตที่คนไทย ไม่เคยเห็นมากว่า ๑๕๐ ปี เช่นพระมหามงกุฎ เครื่องราชูปโภคทองคำต่างๆ พระราชสาส์นทองคำ แผ่นผ้ารูปพระแก้วมรกต ๓ ฤดู และเครื่องมหัคฆภัณฑ์อื่นๆ
ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากภาพวาดอันงดงามของฌอง-เลออง เฌโรม (Jean-Leon Gerome) ที่ปรากฏเป็นปกหน้าหนังสือแล้ว ยังประกอบด้วยบทความเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ทั้งบทความที่อธิบายจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสแต่ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บทความเรื่องความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศสในสมัยรัตนโกสินทร์ และสิ่งสำคัญคือบัญชีรายการสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการพร้อมทั้งภาพถ่าย คณะราชทูตสยามในครั้งนั้นในเชิงมานุษยวิทยา
นับได้ว่าหนังสือ "ราชอาณาจักรสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบลคณะราชทูตสยาม ๒๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๑" เป็นการระบายหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ให้มีสีสันงดงามควรค่าแก่การจดจำเป็นอย่างยิ่ง สิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการทั้งปวงย่อมแสดงให้เห็นว่าสายพระเนตรของพระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมองการณ์ไกลยิ่งนัก ทรงตระหนักดีว่าวิธีการทางการทูตและมิตรไมตรีอันดีระหว่าง ๒ ประเทศเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาขัดข้องต่างๆ ระหว่างประเทศได้ ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าบรรพชนในราชินิกุลบุนนาคนั้น ได้รับสนองงานอันเป็นคุณูปการและประโยชน์แก่แผ่นดินมาโดยตลอดอีกด้วย