Loading...
Menu

“สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕
19th Century Royal and Noble Cyphers and Monograms of Siam :
From the Collection of Chao Chom Liam"

บริษัท สำนักพิมพ์ สยามเรเนซองส์ จำกัด ได้จัดพิมพ์ต้นฉบับสมุดตราสะสมของเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕ ผู้ริเริ่มเก็บสะสมรูปตราต่างๆ อันนับได้ว่าเป็น “งานออกแบบกราฟิกยุคแรกของสยาม” ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้ในรัชกาลที่ ๔ และแพร่หลายอย่างยิ่งในรัชกาลที่ ๕ เพื่อใช้เป็นตราหัวกระดาษ ปกซองจดหมาย และตราผนึกซองจดหมาย และพบเป็นเล่มที่ ๒ โดยเล่มแรกนั้น ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระเจ้าที่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงจัดพิมพ์ไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ในชื่อ “ตราแผ่นดิน ตราราชสกุล และสกุล อักษรพระนามและนามย่อ” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชฯ สำนักพิมพ์สยามเรเนซองส์ จึงได้จัดพิมพ์ต้นฉบับเล่มที่ ๒ นี้ ในชื่อ “สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕”

สำหรับการจัดพิมพ์ในครั้งนี้ ได้ตีพิมพ์สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นสมบัติส่วนตัวของอาจารย์ภาวาส บุนนาค อดีตรองราชเลขาธิการ ที่ได้รับความไว้วางใจจากคุณหญิงเสริมศรี บุนนาค อนุญาตให้เผยแพร่ผลงานสะสมชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเจ้าจอมเลียมสู่สาธารณชน

นอกจากการตีพิมพ์สมุดตราสะสมของเจ้าจอมเลียมทั้งเล่มไว้ในส่วนหน้าแล้ว ทางสำนักพิมพ์ ยังได้จำแนกตราออกเป็นหมวดหมู่ คัดเลือกตราและจัดทำคำอธิบายตรา พร้อมทั้งเรียบเรียงพระราชประวัติ พระประวัติ และประวัติโดยสังเขปไว้ นอกเหนือจากตราสะสมจำนวน ๔๒๓ ดวงแล้ว ยังมีภาพถ่ายอีก ๑๑ ภาพ บางส่วนเป็นภาพฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระปิยมหาราช รวมไปถึงภาพเมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พร้อมทั้งได้รับเกียรติจากพลเรือโท ตติย บุนนาค เรียบเรียงประวัติของเจ้าจอมเลียมอีกด้วย

สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕ นี้ แสดงถึงความอุตสาหะเก็บรวบรวมโดยใช้เวลาต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ จนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๕๑ ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนอุปนิสัยและความสามารถของเจ้าจอมเลียมเท่านั้น หากยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า สะท้อนรสนิยมและความเปลี่ยนแปลงของสังคมในห้วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม